#บันทึกการอ่าน #ปัญญาอดีต #ภิญโญไตรสุริยธรรมา
Past “ปัญญาอดีต” เขียนโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks
…..
หนังสือเล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่ต้นปี เพิ่งจะได้หยิบมาอ่านอย่างจริงจัง หลังจากได้ดูคลิปบรรยายของผู้เขียนในการสัมมนาที่เพจประชาชาติธุรกิจนำมาเผยแพร่
ฟังเรื่องราวที่คุณภิญโญพูดและจำได้ว่าเป็นเนื้อหาในหนังสือที่คุณภิญโญเขียนไว้
วันหยุดยาวรอบนี้จึงได้หยิบมาอ่านรวดเดียวจบ อ่านจบพลันรู้สึกเต็มตื้นขึ้นมาในใจว่า เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านมาก จึงอยากบันทึกบางตอนในหนังสือที่ประทับใจเก็บไว้ในเพจค่ะ
ตัวหนังสือในเล่มถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลสำคัญๆในอดีต ที่เป็นนักปฏิวัติแห่งยุคสมัย ทั้งในโลกตะวันออก รวมถึงไทย และโลกตะวันตก ที่ผลแห่งความเป็นคนกล้าหาญ มองการณ์ไกล ไม่ยอมแพ้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จนสังคมสามารถเดินต่อมาจนปัจจุบัน
ในบทบันทึกการอ่านของฉัน จะบันทึกเฉพาะ ‘เรื่องราวระหว่างบรรทัด’ ที่ฉันประทับใจ เกี่ยวกับบุคคลในอดีตที่มีคุณูปการต่อโลกอนาคตในปัจจุบัน
.
โลกตะวันออก มีบุคคลสำคัญหลายท่านที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในหนังสือ นอกจากพระเจ้าตากของไทย ยังมี ขงเบ้ง โลซก จากสามก๊ก ปราชญ์จีนอย่าง ขงจื้อ เหล่าจื่อ ปราชญ์อินเดียอย่าง สาทิศ กุมาร ที่แนวคิดสำคัญๆของปราชญ์เหล่านี้มีอิทธิพลต่อผู้นำการปฏิวัติมากมาย
โพสต์นี้จะพูดถึงบุคคลสำคัญของไทยก่อนค่ะ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
“ ในวัย 33 ปี ชายคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีทรัพยากรและอำนาจมากมาย ไม่ได้มีเครือข่ายอำนาจเก่า แต่กล้าประกาศตนเป็นกษัตริย์ แม้จะรู้ว่าต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรค สงครามและอันตราย แต่เขาหาได้ประหวั่นพรั่นพรึงไม่ ในจิตใจเขาต้องเปี่ยมด้วยคุณสมบัติสำคัญ อันเป็นที่ต้องการของยุคสมัย นั่นคือ ความกล้าหาญ (courage)
และเขาได้ใช้คุณสมบัตินี้ประกอบกับภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ (leadership) สร้างตำนานบทใหม่ ส่งผลให้พวกเรามีปัจจุบัน (present) ซึ่งเป็นอนาคต (future) อันไกลเกินกว่าผู้คนในรุ่นของเขาจะจินตนาการถึง ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต (past)
น่าเสียดายที่เรากำลังค่อยๆ ทำคุณสมบัติข้อนั้นหายไปจากความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในชีวิต อย่าว่าแต่คิดเสี่ยงภัย แม้เพียงเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากอันหาใช่เรื่องยิ่งใหญ่ เราจำนวนไม่น้อย กลับละทิ้งความมุ่งมาดปรารถนา (passion) ของเราไป และยอมกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่สะดวกสบาย (comfort zone) โดยหารู้ไม่ว่าภัยคุกคามต่างๆ กำลังคืบหน้ามาเฉกเช่นเดียวกับอยุธยา ที่กำลังถูกทัพพม่าโอบล้อมจากทุกด้าน
การมองการณ์ไกล เป็นคุณสมบัติสำคัญของนักปฏิวัติผู้นำพาประเทศไปสู่อนาคต
คุณภิญโญเล่าถึงคุณสมบัติข้อนี้ของพระเจ้าตากให้เห็นอย่างเด่นชัด ถึงแนวคิดนอกกรอบในการฝ่าวงล้อมพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ในขณะนั้น ในการตีฝ่ากองทัพพม่า และเลือกเมืองจันทบูร เป็นเป้าหมาย
“ ความเป็นไปได้เกิดจากการมองหาพื้นที่ใหม่นอกกรอบความคิดเดิม นอกกฎเกณฑ์เก่า เมื่อละทิ้งกรอบเก่า เราจะเห็นขอบฟ้าใหม่ที่กว้างไกล เห็นจักรวาลใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
และนี่คือจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (innovation) และอาจจะไปไกลจนถึงการสร้างบทใหม่ ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติและมนุษยชาติ “
นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงบุคคลสำคัญในอดีตที่มีผลต่อการปฏิวัติเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การศึกษาตัวอย่างเช่น
โธมัส แมลธัส (Thomas Malthus) ผู้เขียน “ความเรียงว่าด้วยประชากร (An Essay on the Principal of Population) ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์เศรษฐกิจของชนชั้นล่าง และชี้ว่าถ้าไม่มีการควบคุม ประชากรจะเพิ่มขึ้นเกินกว่าปริมาณอาหารที่ผลิตได้
อดัม สมิธ นักปราชญ์ผู้ตีพิมพ์แนวคิดของเขาในหนังสือ The Theory of Moral Sentiments หรือทฤษฎีว่าด้วยแนวคิดทางศีลธรรม อธิบายศีลธรรมจากแง่มุมทางจิตวิทยาสังคมของมนุษย์
รวมทั้งหนังสืออีกเล่มในตำนานของโลกที่ชื่อว่า The Wealth of Nations
มีรายละเอียดอีกมากมายในหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจเล่มนี้ที่คิดว่าควรค่าแก่การอ่าน เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา และสร้างการฉุกคิดถึงสิ่งใหม่ๆ โดยเรียนรู้จากอดีต
ขอจบโพสต์นี้ด้วยข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ
“การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวล้ำทุกยุคทุกสมัย จึงเริ่มต้นด้วยแนวคิดใหม่ ก่อนที่ใครบางคนจะเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ยังให้เกิดผลเป็นลูกโซ่ ดังคลื่นที่หายไปจากฝั่งช้าๆ ก่อนสึนามิใหญ่จะถาโถมเข้ามา สิ่งเก่าจะจมลงตรงเบื้องหน้า สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาจะปรากฎ
และไม่น่าเชื่อว่า เมื่อสิ่งใหม่ปรากฎ
มันจะเกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
ประหนึ่งการคลี่คลายของยุคสมัย “